Skip to content

แนวทางป้องกันและดูแลสุขภาพจากฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน สำหรับสถานพัฒนาเด็กปฐมวัย

จากสถานการณ์ฝุ่นละอองเกินมาตรฐานโดยเฉพาะฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) ซึ่งส่งผลให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพต่อประชาชนทุกกลุ่มวัย ทั้งในเมืองและชนบท โดยเฉพาะสุขภาพของเด็ก เนื่องจากระบบภูมิคุ้มกันและปอดยังพัฒนาไม่เต็มที่ เด็กจะมีอัตราการหายใจมากกว่าผู้ใหญ่ และเด็กมักอยู่เล่นนอกอยู่กลางแจ้ง ทำให้มีความเสี่ยงต่อสุขภาพและเกิดผลกระทบมากกว่าผู้ใหญ่

กรมอนามัยกระทรวงสาธารณสุข จึงได้จัดทำคู่มือ “แนวทางการป้องกันและดูแลสุขภาพจากฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน สำหรับสถานพัฒนาเด็กปฐมวัย” ขึ้น เพื่อให้สถานพัฒนาเด็กปฐมวัย ครู ผู้ดูแล หรือผู้ปกครอง ใช้เป็นแนวทางในการลดและป้องกันฝุ่น PM2.5 สร้างความรู้ ความเข้าใจ ความตระหนัก อันนำไปสู่การสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดี เพื่อสุขภาพที่ดีของเด็ก โดยให้ความรู้ ดังนี้

แนวทางการป้องกันและดูแลสุขภาพจากฝุ่น PM2.5สำหรับ สถานพัฒนาเด็กปฐมวัย แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ

  1. แนวทางการเตรียมความพร้อม ศูนย์พัฒนาเด็กปฐมวัยต้องจัดเตรียมความพร้อมรับมือ PM2.5 โดยเริ่มจาก

ผู้บริการสถานพัฒนาเด็กปฐมวัย กำหนดนโยบายและมาตรการป้องกันฝุ่น PM2.5 ที่ชัดเจน อบรมบุคลากรผู้เกี่ยวข้องให้มีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับฝุ่นPM2.5 กำหนดบทบาทหน้าที่อย่างชัดเจน สื่อสารทำความเข้าใจกับผู้ปกครองเกี่ยวกับมาตรการป้องกัน และจัดทำสื่อการสอนเพื่อให้เด็กเรียนรู้การป้องกันตัวเอง นอกจากนี้ ควรติดตามสถานการณ์ฝุ่นอย่างต่อเนื่อง และเตรียมแผนสำรองการเรียนการสอนในช่วงที่ฝุ่นมีผลกระทบ

แนวทางปฏิบัติระหว่างเกิดสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5)

  • การจัดสภาพแวดล้อมและดูแลห้องเรียน ควรทำความสะอาดห้องเรียนเป็นประจำ หลีกเลี่ยงการทำ

ความสะอาดที่ทำให้เกิดฝุ่นฟุ้งกระจาย ไม่สะสมสิ่งของที่เป็นที่สะสมของฝุ่น เช่น พรมหรือผ้าม่าน ควรปิดประตูหน้าต่างให้มิดชิด งดกิจกรรมที่ก่อฝุ่น เช่น การเผาขยะ และขอความร่วมมือจากผู้ปกครองให้จอดรถนอกศูนย์ ขอความร่วมมือร้านค้าแผงลอย ปิ้งย่างโดยใช้เตาไร้ควัน นอกจากนี้ ควรปลูกต้นไม้เพื่อลดฝุ่น ดูแลให้ถนนสะอาด และติดตั้งระบบลดฝุ่น เช่น สเปรย์ละอองน้ำ หากใช้ห้องเรียนที่ปิด ควรดูแลให้อากาศถ่ายเทสะดวกและปรับจำนวนเด็กให้เหมาะสมกับพื้นที่ โดยมีพื้นที่เฉลี่ยประมาณ 2.00 ตารางเมตร ต่อเด็ก 1 คน

  • แนวทางการปฏิบัติสำหรับครูพี่เลี้ยง และการจัดกิจกรรม ติดตามสถานการณ์ฝุ่นPM2.5 เป็นประจำ

สื่อสารข้อมูลให้บุคลากรและผู้ปกครอง คัดกรองเด็กกลุ่มเสี่ยง หลีกเลี่ยงกิจกรรมนอกอาคารในช่วงค่าฝุ่นสูง ควรให้เด็กดื่มน้ำและรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ จัดทำมุมผู้ปกครอง เพื่อประชาสัมพันธ์คำแนะนำ ให้ความรู้เกี่ยวกับฝุ่นละอองและการดูแลเด็ก จัดเตรียมสำรองหน้ากากป้องกันฝุ่น สวมหน้ากากป้องกันฝุ่นและเปลี่ยนใหม่เมื่อชำรุด สังเกตอาการผิดปกติ เช่น เคืองตา คันตา ตาแดง หากอาการรุนแรงให้ไปพบแพทย์ทันที และปรับเวลาเข้าเรียน ระยะเวลารับส่งเด็กเพื่อลดการสัมผัสฝุ่น

  • แนวทางการปฏิบัติสำหรับผู้ปกครอง ควรติดตามสถานการณ์ฝุ่นPM2.5 ดูแลเด็กให้หลีกเลี่ยงกิจกรรม

นอกบ้านในช่วงค่าฝุ่นสูง ดูแลสุขภาพให้แข็งแรงด้วยการกินอาหารที่มีประโยชน์และพักผ่อนให้เพียงพอ หากเด็กมีอาการผิดปกติ เช่น ไอ แน่นหน้าอก หรือหายใจลำบาก ควรรีบพาไปพบแพทย์ทันที จัดการสิ่งแวดล้อมให้เหมาะสม เช่น ปิดประตูหน้าต่าง ลดกิจกรรมที่ก่อฝุ่น ปลูกต้นไม้ และก่อนออกนอกบ้านควรให้เด็กสวมหน้ากากป้องกันฝุ่นเสมอ

หากท่านใดมีความสนใจศึกษาคู่มือแนวทางป้องกันและดูแลสุขภาพจากฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน

สำหรับสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยสามารถเข้าไปอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ : https://hia.anamai.moph.go.th/web-upload/12xb1c83353535e43f224a05e184d8fd75a/m_magazine/35644/2924/file_download/afa9e7cdcb54dd9be0b2cb3d7bb1abfe.pdf

เอกสารอ้างอิง:

กรมอนามัย. (2564). แนวทางป้องกันและดูแลสุขภาพจากฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน สำหรับสถานพัฒนาเด็กปฐมวัย. สืบค้น 30 มีนาคม 2568, จาก https://hia.anamai.moph.go.th/web-upload/12xb1c83353535e43f224a05e184d8fd75a/m_magazine/35644/2924/file_download/afa9e7cdcb54dd9be0b2cb3d7bb1abfe.pdf

 

เรื่องที่คุณอาจสนใจ