ความเป็นมาของ “366 Q-Kids”
โปรแกรมยกระดับคุณภาพศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก
366 Q-Kids เกิดขึ้นภายใต้โครงการขยายผลเพื่อพัฒนาคุณภาพศูนย์พัฒนาเด็กเล็กในเครือข่ายตําบลสุขภาวะ เป็นการบูรณาการระหว่างแผนสุขภาวะชุมชนและแผนสุขภาวะเด็ก เยาวชนและครอบครัว โปรแกรมนี้ประกอบด้วย 3 ตัวช่วยสำคัญ ได้แก่ ทีมผู้เชี่ยวชาญ เครือข่ายทีมสนับสนุนทางวิชาการที่เป็นพี่เลี้ยง และชุดความรู้พร้อมใช้ ผ่านการดำเนินกิจกรรม 6 รูปแบบ ในระยะเวลา 6 เดือน โดยใช้รูปแบบผสมผสานทั้งการเรียนรู้แบบออนไซต์และออนไลน์
การพัฒนา 366 Q-Kids ไม่ใช่เรื่องง่าย คุณณัฐยา บุญภักดี ผู้เล่าถึงกระบวนการพัฒนาว่า
“กว่าจะเป็น 366 Q-Kids ในวันนี้ ได้ผ่านการลองผิดลองถูกและมี ‘Lesson Learned’ มาแล้วมากมาย”
โดยเริ่มจากการทดลองใช้กับศูนย์พัฒนาเด็กเล็กจริง ซึ่งใช้เวลานานถึงหนึ่งปี ก่อนจะปรับลดเหลือ 9 เดือน และทดลองใช้รูปแบบออนไลน์ 100% ซึ่งพบว่าไม่ได้ผลเท่าที่ควร จนในที่สุดจึงได้พัฒนามาเป็นรูปแบบผสมผสานในปัจจุบัน การพัฒนานี้สะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการหาวิธีการที่เหมาะสมที่สุดในการพัฒนาศักยภาพของครูและบุคลากรในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก
ผลลัพธ์เบื้องต้นของโปรแกรม 366 Q-Kids น่าพอใจอย่างยิ่ง ปัจจุบันมีศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเข้าร่วมโครงการและเกิดเป็นต้นแบบแล้ว 51 แห่ง ครอบคลุมการยกระดับพัฒนาการเด็กปฐมวัยกว่า 2,000 คน ความสำเร็จนี้นำไปสู่แผนการขยายผลในอนาคต โดย สสส. มีแผนที่จะร่วมมือกับ 4 กระทรวงหลักที่เป็นเจ้าภาพงานพัฒนาเด็กปฐมวัย เพื่อขยายผลโปรแกรมให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น
366 Q-Kids จึงเป็นก้าวสำคัญในการยกระดับคุณภาพการดูแลและพัฒนาเด็กปฐมวัยของไทย ด้วยการผสมผสานระหว่างนโยบายระดับชาติ การมีส่วนร่วมของชุมชน และการใช้เทคโนโลยีอย่างเหมาะสม เชื่อว่าจะช่วยให้เด็กไทยเติบโตอย่างมีคุณภาพ สมวัย และมีความพร้อมที่จะเป็นกำลังสำคัญของประเทศในอนาคต การดำเนินงานนี้ไม่เพียงแต่จะช่วยแก้ไขปัญหาพัฒนาการล่าช้าในปัจจุบัน แต่ยังเป็นการวางรากฐานสำคัญสำหรับการพัฒนาประเทศในระยะยาวอีกด้วย
รู้จัก 366 Q-KIDS
“พัฒนาครู เพื่อคุณภาพเด็กปฐมวัย”
ประกอบไปด้วย 3 ตัวช่วยที่สำคัญ ได้แก่
- ผู้เชี่ยวชาญ (Technical Support Team) ประกอบไปด้วย อาจารย์ นักวิชาการ ที่มีความชำนาญและมีประสบการณ์ในหลากหลายสาขา ทำหน้าที่ให้คำแนะนำ เสนอแนะ วิธีการต่าง ๆ ในเชิงลึกกับผู้เข้าร่วมโครงการฯ
- ทีมสนับสนุนวิชาการ (Deep Dive Support Team) ประกอบไปด้วย ศึกษานิเทศก์ / ผอ.กอง / ผอ.กลุ่ม / นักวิชาการ / ครูแกนนำ ใน ศพด. ที่มีประสบการณ์ มีความเข้าใจการขับเคลื่อนในพื้นที่เชิงลึก ทำหน้าที่คอยสนับสนุนวิชาการจะมีหน้าที่คอยให้คำแนะนำ ชี้แจงการทำงานอย่างเป็นระบบ ประสานงาน ช่วยเหลือการทำงานต่าง ๆ ในโครงการ
- ชุดความรู้ (Learning Tools) ภายในเล่มประกอบด้วยเกณฑ์การประเมิน และแนวทางการจัดเก็บร่องรอยหลักฐานในการประเมินคุณภาพของศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก โดยจะใช้แนวทางตามมาตรฐานสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติ เพื่อให้สถานพัฒนาเด็กปฐมวัยสามารถนำไปศึกษา ปฏิบัติ และขยายผลได้
ต่อมาคือ “6 ขั้นตอน/กิจกรรม”
จะเป็นการกิจกรรมผสมผสานโฮบริด ทั้งออนไซต์และออนไลน์ โดยใช้เวลา 6 เดือน คือ 1 เดือน 1 กิจกรรม เริ่มต้นที่เดือนแรก กิจกรรม “ปฐมนิเทศ” เป็นกิจกรรมที่ได้เรียนรู้กระบวนการของ 366 Q-Kids และ สร้างความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกในโครงการกับทีมสนับสนุนวิชาการที่ปฏิบัติหน้าที่เป็นทั้งโค้ชและพี่เลี้ยง และมีที่ปรึกษาคือทีมผู้เชี่ยวชาญ เพื่อให้ครูรู้สึกอุ่นใจ มั่นใจ และพร้อมที่จะเรียนรู้โดยใช้ชุดความรู้ และเตรียมนำ เสนอผลงานในกิจกรรมครั้งที่ 2-3 เป็นหนุนเสริมออนไลน์ และกิจกรรมครั้งที่ 4 นำผลงานมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน ครั้งที่ 5 เป็นหนุนเสริมออนไลน์ และครั้งที่ 6 มาสรุปบทเรียนออนไซต์เพื่อการพัฒนางานร่วมกัน