จากรายงานการสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรีในประเทศไทย MICs 6 (MICs : Multi Indicator Cluster Survey) พ.ศ2565 ประเทศไทยมีอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว 6 เดือนอยู่ที่ ร้อยละ 28.6 และลดลงเมื่อครบกำหนดลาคลอด 3 เดือน
โครงการสร้างสุขภาวะเด็กไทยด้วยนมแม่ ฝ่าวิกฤตโควิด-19 และสานพลังเครือข่ายสู่การขยายผล เพื่อสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ให้มีแนวทางการปฏิบัติอย่างยั่งยืนในสังคมไทย สร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ และการเลี้ยงดูคู่การเรียนรู้อย่างเหมาะสมกับช่วงวัย โดยได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
ศ.คลินิก พญ.ศิราภรณ์ สวัสดิวร ผู้จัดการโครงการสร้างสุขภาวะเด็กไทยฯ เปิดเผยว่า “นมแม่เป็นต้นทุนด้านอาหารที่มีประสิทธิภาพสูง มีสารอาหารสำคัญครบถ้วน ช่วยให้เด็กมีร่างกายแข็งแรงและมีภูมิต้านทานสูง เด็กวัยก่อน 3 ขวบถือเป็นช่วง Sensitive Period โครงสร้างสมองของมนุษย์มากกว่าร้อยละ 80 จะเกิดการพัฒนาขึ้นในช่วงนี้ เมื่อแรกเกิดสมองทารกมีจำนวนเซลล์สมองประมาณ 86,000 ล้านเซลล์ และมีเซลล์พี่เลี้ยง เช่น glia cell อีกประมาณ 85,000 ล้านเซลล์ การที่สมองมีการเจริญเติบโตจนมีน้ำหนักเพิ่มมากขึ้น เป็นผลจากการขยายใยประสาทและการเพิ่มจุดเชื่อมต่อ ซึ่งตัวกระตุ้นให้เกิดคือประสบการณ์การเลี้ยงดู การเรียนรู้ที่เกิดขึ้นรายวันและอาหารที่เด็กได้รับ ข้อมูลวิชาการยืนยันว่าถ้าลูกได้กินนมแม่ ลูกมีโอกาสฉลาด และยิ่งได้กินมากยิ่งมีโอกาสฉลาดมาก แต่จะมีผลดีมากกว่านี้ หากลูกได้นมแม่ควบคู่กับการเลี้ยงดูแบบมีคุณภาพ
“มีการศึกษาพบว่าการลงทุนเลี้ยงดูเด็กในช่วงปฐมวัย 6 ขวบปีแรก จะมีผลตอบแทนสูงถึง 6.7-17.6 เท่า ยิ่งลงทุนตั้งแต่ระยะตั้งครรภ์ยิ่งให้ผลคุ้มค่า โดยช่วงอายุ 3 ขวบปีแรกจะให้ผลตอบแทนสูงกว่าช่วงอายุ 4-5 ขวบ ดังนั้น การจัดระบบบริการสถานพัฒนาเด็ก (daycare) สำหรับเด็กกลุ่มต่ำกว่า 3ขวบ เป็นรอยต่อก่อนเข้าโรงเรียนอนุบาลจึงมีความจำเป็น เป็นช่วงเวลาสำคัญของการสร้างรากฐานชีวิตทั้งด้านร่างกาย จิตใจ สติปัญญา อารมณ์ และสังคม”
ศ.คลินิก พญ.ศิราภรณ์ กล่าว
ผศ.ดร.จริยา วิทยะศุภร ที่ปรึกษาโรงเรียนพยาบาลรามาธิบดี และกรรมการมูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย กล่าวว่า “มูลนิธิศูนย์นมแม่ฯ จับมือกับคณะแพทยศาสตร์และคณะพยาบาลศาสตร์ของมหาวิทยาลัยต่าง ๆ สร้างต้นแบบสถานพัฒนาเด็กเล็ก และร่วมมือกับกรมอนามัยที่ได้เชิญชวนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มี Daycare เด็กโต 3-6 ขวบ ให้ขยายการรับเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 3 ขวบ ซึ่งจำเป็นต้องพัฒนาบุคลากรผู้ให้การเลี้ยงดูเด็กเหล่านี้อย่างมีคุณภาพ บุคลากรพยาบาลรับผิดชอบหลักให้การดูแลสุขภาพและคุณครูปฐมวัยรับผิดชอบหลักการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ ตามเกณฑ์มาตรฐานสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติ 2562 โดยร่วมกันบูรณาการการดูแลและการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์การเล่นและการช่วยเหลือตนเองของเด็ก”
นอกจากนี้มีการเชื่อมโยงระหว่างบุคลากรและคุณแม่ของเด็กเพื่อให้เข้าใจและตระหนักรู้ถึงประโยชน์ที่แท้จริงของนมแม่ ทำให้แม่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว 6 เดือนต่อเนื่องด้วยนมแม่ร่วมกับอาหารตามวัยถึง 2ขวบหรือนานกว่าได้ เด็กมีการเจริญเติบโตสูงดีสมส่วน และมีพัฒนาการที่สมวัยในปีนี้เราได้สร้าง Daycare ต้นแบบ 10 กว่าแห่ง เพื่อเป็นพี่เลี้ยงในการให้คำแนะนำหรือขยายผลสู่ Daycare องค์กรส่วนภูมิภาค และวางแผนร่วมมือกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ พัฒนา Daycare ในสถานประกอบการของภาคเอกชนรวมไปถึงมีความพยายามที่จะขับเคลื่อนกฎหมายลาคลอดให้เพิ่มเป็น 6 เดือน การรณรงค์สัปดาห์นมแม่โลกในปีนี้มีสโลแกนว่า สานพลังสร้างสรรค์สังคมนมแม่เพื่อพ่อแม่ที่ต้องทำงาน “Daycare 3 เดือน ถึง 3 ปีจึงตอบโจทย์ความต้องการของแม่ทำงานที่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่”
เอกสารอ้างอิง:
- muknutta. (2566). นำร่อง Daycare 3 เดือน – 3 ปี ใน อปท. สถานประกอบการ หนุนเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ตอบโจทย์คุณแม่วัยทำงาน. สืบค้น 18 สิงหาคม 2566, จาก https://www.thaihealth.or.th/?p=343854