จากข้อมูลพัฒนาการเด็กปฐมวัย ปี 2566 โดยสถาบันพัฒนาอนามัยเด็กแห่งชาติ กรมอนามัย ก็ยังพบ เด็กปฐมวัยที่มีพัฒนาการล่าช้าราว 30% โดยพบว่า พัฒนาการล่าช้าด้านภาษาสูงถึง 74.8% การเข้าใจภาษา 60.9% กล้ามเนื้อมัดเล็กและสติปัญญา 44.6% และการเคลื่อนไหว 28.2% ส่วนหนึ่งของปัญหาพัฒนาการล่าช้านี้ มาจากช่วงสถานการณ์โควิด-19 ส่งผลกระทบต่อเด็กและเยาวชนไทยมากกว่า 2 ปี การเรียนออนไลน์กลายเป็นสิ่งบันทอนโอกาสทางการเรียนรู้ และการพัฒนาเด็กปฐมวัยอย่างมหาศาล ส่งผลให้พัฒนาการหยุดชะงัก และเกิดภาวะถดถอยทางการเรียนรู้การส่งเสริมพัฒนาการเด็กปฐมวัย จึงถือเป็น “วาระแห่งชาติ” ที่จะต้องเร่งดำเนินการ ทำให้ นโยบาย “3 เร่ง 3 ลด 3 เพิ่ม” ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติ เพื่อจะนำไปสู่การทุ่มเททรัพยากรเพื่อเด็กอย่างจริงจัง
3 เร่ง คือ เร่งความเข้าใจแก่ผู้ปกครอง ครู ผู้ดูแลเด็ก ชุมชน และสังคม เร่งสวัสดิการการเลี้ยงดูเด็กเล็กถ้วนหน้า และเร่งเสริมศักยภาพ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ชุมชน และกลไกระดับพื้นที่ใกล้ตัวเด็ก
3 ลด คือ ลดการใช้สื่อหน้าจอในเด็กปฐมวัย 100 ก่อนวัย 2 ขวบ ลดความเครียด คืนความสุขแก่เด็กปฐมวัย และลดการใช้ความรุนแรง ต่อเด็กปฐมวัยทั้งทางร่างกายและจิตใจ
3 เพิ่ม คือ เพิ่มกิจกรรมส่งเสริมพัฒนาการและการเรียนรู้ผ่านการเล่นหลากหลาย เช่น ดนตรี กีฬาการออกกำลังกาย เพิ่มการเล่าและอ่านนิทานสม่ำเสมอ และเพิ่มความรัก ความใส่ใจ และส่งเสริมเวลาคุณภาพของครอบครัวเพื่อส่งเสริมพัฒนาการเด็กปฐมวัยในสภาวะวิกฤตต่าง ๆ เพื่อให้เด็กทุกคนมีคุณภาพชีวิตที่ดี และเติบโตขึ้นเป็นอนาคตของชาติที่ยั่งยืนต่อไปในอนาคต
สสส. เล็งเห็นถึงความสำคัญของการเสริมพัฒนาการเด็ก จึงได้พัฒนานวัตกรรม “366 0-KIDS” โปรแกรมที่ช่วยเสริมทักษะครูให้สามารถส่งเสริมพัฒนาการเด็กปฐมวัยได้ตามมาตรฐาน
ในโปรแกรม 366 Q-KIDS นี้ ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อเป็นตัวช่วยเสริมทักษะให้แก่ครู เนื่องจากที่ผ่านมามีความเข้าใจว่าศูนย์พัฒนาเด็กเล็กทำหน้าที่รับดูแลลูกในช่วงที่พ่อแม่ทำงาน ครูอาจถูกจ้างมาเพื่อดูแลเด็กเท่านั้น ครูอาจจะได้เรียนจบด้านปฐมวัยโดยตรง ส่วนหนึ่งมีความรู้ทางวิชาการไม่เพียงพอที่จะดูแลพัฒนาการเด็ก สสส. จึงเห็นความสำคัญในการเสริมทักษะครู ซึ่งเป็นคนใกล้ชิดเด็กและสามารถช่วยสร้างพัฒนาการเด็กได้
นวัตกรรม “366 Q-KIDS” จึงคิดขึ้นมาเพื่อติดอาวุธหรือเสริมทักษะให้ครู รู้จักพัฒนาการของเด็กว่าคืออะไร ทั้งด้านกาย ใจ อารมณ์ ช่วยเสริมสร้างเด็กให้พัฒนาการดีขึ้นด้วย สามารถประเมินได้ว่าเด็กคนนี้มีปัญหา ไม่คุยกับใคร มีโรคอะไร เช่น สมาธิสั้น ออทิสติก และจะดูแลอย่างไร แน่นอนว่าการสร้างพัฒนาการเด็กและเยาวชนนั้น จำเป็นต้องทำงานร่วมกันอย่างจริงจังทุกฝ่าย ทั้งครอบครัว ภาครัฐ ภาคเอกชน เพื่อไปสู่เป้าหมายเดียวกัน ที่มุ่งให้เด็กและเยาวชน กลายเป็นพลังขับเคลื่อนประเทศต่อไปในอนาคตได้อย่างดี
รู้จักนวัตกรรม 366 Q-KIDS
จุดเริ่มต้นของ 366 Q-KIDS เริ่มต้นจากการที่สถานพัฒนาเด็กปฐมวัยทุกแห่งทั่วประเทศ ต้องทำงานให้ได้ตามมาตรฐานสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติ ซึ่งประกอบด้วยสิ่งที่ต้องทำกว่า 50 ข้อ หากเป็นครูที่จบด้านปฐมวัยมาโดยตรงก็จะสามารถทำได้ แต่ยังมีศูนย์พัฒนาเด็กเล็กอีกจำนวนมากที่ไม่มีครูที่จบด้านปฐมวัยโดยตรง
สสส. คิดค้นนวัดกรรมนี้เพื่อหนุนเสริมศักยภาพครูที่เข้าใจง่าย แม้ไม่ได้จบด้านปฐมวัยโดยตรง ได้ผลจริง ใช้เวลาไม่นาน ไม่เป็นภาระครู เมื่อครูทำงานดีขึ้น เด็กก็รับผลประโยชน์เต็มที่ โดยนำไปทดสอบจริงกับศูนย์พัฒนาเด็กเล็กผ่านการทดลองมาหลายรูปแบบตั้งแต่การสร้างศูนย์เด็กเล็กต้นแบบ การเรียนแบบออนไลน์ และการสร้างกล่องความรู้ (Toolbox) จนกลายเป็น 366 Q-KIDS
366 Q-KIDS ประกอบด้วย 3 ตัวช่วย 6 เดือน 6 กิจกรรม
สำหรับนวัตกรรม “366 Q-KIDS” จะประกอบไปด้วย 3 ส่วนที่สำคัญ คือ
3 ตัวช่วย ซึ่งประกอบด้วย
- ชุดเครื่องมือพร้อมใช้ สำหรับครูผู้สอน ซึ่งเมื่อนำไปทดสอบใช้ ทำให้พบว่า Toolbox สามารถยังใช้ได้ดี แต่ได้พัฒนาต่อให้นำไปปฏิบัติงานได้ง่ายขึ้น
- ทีมพี่เลี้ยงหรือทีมดำน้ำลึก (Deep dive) เพราะเวลาทำเรื่องใหม่ ๆ ที่ไม่เคยทำ หากมีคนให้หันไปปรึกษาได้จะดีที่สุด จึงเกิดการค้นหาว่า จังหวัดไหนมีทีมพี่เลี้ยง ประกอบด้วย ศึกษานิเทศก์ นักวิชาการศึกษาท้องถิ่น ครูศูนย์เด็กเล็กต้นแบบ เพื่อให้มาเป็นทีมพี่เลี้ยงประกบกับครูปฐมวัยในพื้นที่
- ทีมผู้เชี่ยวชาญ เนื่องจากการพัฒนาเด็กปฐมวัยมีหลายด้าน ทั้งสมอง จิตใจ สุขภาพกาย พัฒนาการ โภชนาการจึงควรมีผู้เชี่ยวชาญแต่ละเรื่องมารวมตัวกันเป็นทีมที่ไม่ต้องลงพื้นที่ แต่เป็นเทเลคอนชัลต์ให้คำปรึกษา ให้ความเห็น และคำแนะนำต่อครูได้
6 กิจกรรม 6 เดือน
จะเป็นการกิจกรรมผสมผสานโฮบริด ทั้งออนไซต์และออนไลน์ โดยใช้เวลา 6 เดือน คือ 1 เดือน 1 กิจกรรม เริ่มต้นที่เดือนแรก “ปฐมนิเทศ” เป็นแบบออนไซต์มาเจอหน้ากัน เจอทีมพี่เลี้ยงและทีมผู้เชี่ยวชาญ เพื่อให้ครูรู้สึกอุ่นใจว่าได้รู้จักกันแล้ว
ครั้งที่ 2-3 จะเรียนรู้ออนไลน์ ครั้งที่ 4 มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้เจอหน้ากัน ครั้งที่ 5 ออนไลน์แลกเปลี่ยนเรียนรู้ และครั้งที่ 6 มาถอดบทเรียนออนไซต์ด้วยกัน
กิจกรรมที่มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ จะอิงตามมาตรฐานชาติ เช่น เรื่องการจัดประสบการณ์การเรียนรู้เด็กปฐมวัย มาตรฐานชาติให้เรียนรู้ผ่านการเล่น ครูก็ต้องมีความรู้ความเข้าใจก่อนว่า เด็ก 2-3 ขวบ สมองไปได้แค่ไหนกล้ามเนื้อทำอะไรได้แค่โหน ความสามารถจะเข้าใจเป็นอย่างไร เพราะการคิดเชิงเหตุผลยังไม่เกิด ต้องรู้จิตวิทยาเด็กถึงมาเรียนรู้ว่า การเรียนรู้ผ่านการเล่นคืออะไร แล้วฝึกออกแบบกิจกรรมที่ให้เด็กเรียนรู้ เช่น เรื่องการแปรงฟัน ครูจะสร้างสรรค์กิจกรรมอะไรให้เด็กเรียนรู้เรื่องการแปรงฟัน หรือการฝึกวินัยเชิงบวกการเล่นแล้วต้องเก็บ ครูจะใช้กิจกรรมแบบไหนในการฝึกทักษะเด็ก
สิ่งที่ครูจะได้ คือ การฝึกเรื่องพัฒนาการของมนุษย์ในวัยเด็ก เพื่อนำไปสู่การสังเกตชั้นเรียนของตนเองที่เด็กแต่ละคนมีความแตกต่างกัน ทั้งร่างกาย ความคิด พัฒนากาการ เมื่อสังเกตได้ ก็จะออกแบบกิจกรรมให้เหมาะสมได้
นวัตกรรม 366 Q-Kids จึงเป็นก้าวสำคัญในการยกระดับคุณภาพการดูแลและพัฒนาเด็กปฐมวัยของไทย ด้วยการผสมผสานระหว่างนโยบายระดับชาติ การมีส่วนร่วมของชุมชน และการใช้เทคโนโลยีอย่างเหมาะสม เชื่อว่าจะช่วยให้เด็กไทยเติบโตอย่างมีคุณภาพ สมวัย และมีความพร้อมที่จะเป็นกำลังสำคัญของประเทศในอนาคต การดำเนินงานนี้ไม่เพียงแต่จะช่วยแก้ไขปัญหาพัฒนาการล่าช้าในปัจจุบัน แต่ยังเป็นการวางรากฐานสำคัญสำหรับการพัฒนาประเทศในระยะยาวอีกด้วย
ดาวน์โหลดเอกสารเอกสารอ้างอิง:
- Nopparat. (2567). จดหมายข่าวชุมชนคนรักสุขภาพ ฉบับสร้างสุข ประจำเดือนกันยายน 2567. สืบค้น 1 ตุลาคม 2567, จาก https://www.thaihealth.or.th/?p=370992