
ยกระดับ ศพด. ด้วยนวัตกรรม โปรแกรม “366 Q-KIDS” สสส. สานพลังกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น-ESTA-ภาคีเครือข่าย ส่งเสริมพัฒนาการเด็ก สร้างศูนย์ต้นแบบการพัฒนาระบบการดูแลเด็กปฐมวัยโดยชุมชนท้องถิ่น จำนวน 6 แห่ง จากการดำเนินงานที่ผ่านมาทั้ง 6 แห่ง ผ่านการทดลองใช้เครื่องมือดังกล่าวส่งผลให้มีการประเมินคุณภาพสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยผ่านมาตรฐานชาติ เด็กมีพัฒนาการด้านการเคลื่อนไหว-การทรงตัว มีความสามารถการใช้ภาษา-ส่งเสริมจินตนาการ ความคิดสร้างสรรค์ เตรียมพัฒนาส่งเสริม ศพด. ครอบคลุมทั่วประเทศ โดยขยายการใช้เครื่องมือใน อปท.เครือข่ายจำนวน 33 แห่ง
ที่ อาคารศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น บริษัท เอดูเคชั่น เซอร์วิส แอนด์ เทรนนิ่ง เอเจนซี จำกัด (ESTA) จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการเสริมศักยภาพศูนย์ต้นแบบการพัฒนาระบบการดูแลเด็กปฐมวัยการยกระดับคุณภาพศูนย์พัฒนาเด็กเล็กด้วยโปรแกรม 366 Q-KIDS : การขยายผลเชิงลึก Scale Deep และการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) “การพัฒนาระบบการดูแลเด็กปฐมวัยโดยชุมชนท้องถิ่น”

นพ.พิศิษฐ์ ศรีประเสริฐ กรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ และประธานกรรมการบริหารแผน คณะที่ 3 สสส. กล่าวว่า การบูรณาการการทำงานระหว่างศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก (ศพด.) และชุมชนท้องถิ่น ถือเป็นหัวใจของการสร้างสุขภาวะที่ดีให้กับเด็กปฐมวัย” ปัจจุบัน สสส. ได้ร่วมมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พัฒนา ศพด. “ศูนย์ต้นแบบ” 6 แห่ง อปท.เครือข่าย 33 แห่ง ที่จะต้องมีมาตรฐานที่สำคัญ 3 เรื่อง ได้แก่ 1.บริหารจัดการสถานพัฒนาเด็กปฐมวัย เช่น บุคลากร สิ่งแวดล้อม ความปลอดภัย ส่งเสริมสุขภาพ 2.ครู/ผู้ดูแล ให้การดูแล และจัดประสบการณ์การเรียนรู้ และการเล่นเพื่อพัฒนาเด็กปฐมวัย 3.คุณภาพของเด็กปฐมวัย เช่น การเคลื่อนไหว อารมณ์จิตใจ สติปัญญา การเรียนรู้ การสื่อสาร สังคม คุณธรรม เพื่อเป็นพี่เลี้ยงให้กับศูนย์พัฒนาเด็กเล็กแห่งอื่น ๆ ในการยกระดับคุณภาพให้ได้มาตรฐาน นอกจากนี้ได้ส่งเสริมการนำ “ชุดความรู้เพื่อยกระดับคุณภาพศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก” ไปใช้จริง พร้อมพัฒนาหลักสูตรฝึกอบรมสำหรับครูและบุคลากร สนับสนุนการจัด เวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในระดับชุมชน เพื่อให้เกิดเครือข่ายการพัฒนาเด็กปฐมวัยที่เข้มแข็ง

น.ส.ณัฐยา บุญภักดี ผู้อำนวยการสำนักอาวุโส สำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สสส. กล่าวว่า สสส. มุ่งสร้างสุขภาวะในเด็กปฐมวัยเพราะเป็นวัยสร้างฐานทุนสุขภาพที่ดีตลอดชีวิตผ่านยุทธศาสตร์หลัก 4 ด้าน ได้แก่ 1.เพิ่มขีดความสามารถให้แก่ครอบครัวและชุมชน 2.ส่งเสริมพื้นที่เล่นและเรียนรู้ใกล้บ้าน 3.พัฒนาระบบสนับสนุนเด็กและครอบครัวแบบไร้รอยต่อ และ 4.ส่งเสริมการมีส่วนร่วมอย่างมีความหมาย พร้อมทั้งได้พัฒนา นวัตกรรม โปรแกรม 366 Q-KIDS ซึ่งเป็นเครื่องมือสนับสนุนการเรียนรู้ของครูและบุคลากร โดยอาศัย “3 ตัวช่วย” ได้แก่ 1.เครือข่าย ทีมผู้เชี่ยวชาญ 2.ทีมสนับสนุนวิชาการ และ 3.ชุดความรู้พร้อมใช้ ผ่าน 6 กิจกรรมหลัก ครอบคลุมทั้งด้านวิชาการและพัฒนาการเด็ก ดำเนินการภายใน 6 เดือน ซึ่งในการดำเนินงานที่ผ่านมีผลการประเมินพบว่า 84.31% ของศูนย์พัฒนาเด็กเล็กที่เข้าร่วมโครงการ มีคุณภาพดีขึ้นตามเกณฑ์มาตรฐาน

ดร.นิสา รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รักษาการผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน สสส. กล่าวว่า สสส. ให้ความสำคัญกับการทำงานร่วมกับพื้นที่ ผ่านเครือข่ายตำบลสุขภาวะ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศ เพื่อให้ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กมีคุณภาพตามมาตรฐานสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติ ได้นำนวัตกรรม โปรแกรม 366 Q-KIDS มาพัฒนาศักยภาพและสมรรถนะของครูและบุคลากรในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กของศูนย์ต้นแบบทั้ง 6 แห่ง ที่มีชุดประสบการณ์สำคัญในการร่วมขับเคลื่อนงานเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนท้องถิ่น ด้วยพลังของ 4 องค์กรหลักในพื้นที่ (ท้องถิ่น-ท้องที่-องค์กรชุมชน-หน่วยงานรัฐในพื้นที่) ผ่านทุนทางสังคมและศักยภาพของชุมชนท้องถิ่น ที่ขยายการทำงานไปใน อปท.เครือข่าย 33 แห่ง โดยมีบุคลากรในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กที่จะได้รับการพัฒนาให้มีศักยภาพในการดูแลและจัดกระบวนการเรียนรู้ที่ได้มาตรฐาน ที่จะส่งผลต่อเด็กปฐมวัยให้ได้รับการพัฒนาศักยภาพที่ครอบคลุม ทั้งด้านการเคลื่อนไหว ทักษะการทรงตัว ความสามารถในการใช้ภาษา การส่งเสริมจินตนาการ และสุขภาพที่แข็งแรง ซึ่งศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเหล่านี้จะเป็นต้นแบบในการพัฒนาระบบการดูแลเด็กปฐมวัยโดยชุมชนท้องถิ่น และเป็นโมเดลสำหรับขยายผลไปยัง ศพด. ทั่วประเทศ

นางชลิดา ยุตราวรรณ์ ผู้อำนวยการกลุ่มงานส่งเสริมการจัดการศึกษาปฐมวัยและศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กล่าวว่า กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ร่วมกับ สสส. นำชุดความรู้ 366 Q-KIDS ไปปรับใช้ใน ศพด.ทั่วประเทศ เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติ และพัฒนาระบบการติดตามและประเมินผล เพื่อให้ ศพด.ที่เข้าร่วมโครงการ สามารถดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ จากการดำเนินงานที่ผ่านมาพบว่าครูและบุคลากรที่ได้รับการพัฒนาอย่างเป็นระบบ สามารถดูแลเด็กปฐมวัยได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อพัฒนาการของเด็ก และช่วยให้เด็ก และเยาวชน มีพื้นฐานที่แข็งแกร่งในการเติบโตต่อไป หลังจากนี้จะขยายการทำงานเพิ่มจำนวน ศพด.ที่เข้าร่วมโครงการอย่างต่อเนื่อง โดยใช้เครือข่ายตำบลสุขภาวะเป็นฐานในการดำเนินงาน เพื่อให้เด็กปฐมวัยในทุกพื้นที่จะได้รับการดูแลอย่างทั่วถึง และมีคุณภาพ รวมถึงนำเทคโนโลยีมาใช้เป็นเครื่องมือสนับสนุนการเรียนรู้ของครูและบุคลากรใน ศพด.ทั่วประเทศ เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนในระยะยาว

ข้อมูลเพิ่มเติม
ศูนย์ต้นแบบการพัฒนาระบบการดูแลเด็กปฐมวัยโดยชุมชนท้องถิ่น 6 แห่ง และเครือข่าย 33 แห่ง
1. อบต.ทรายขาว อ.พาน จ.เชียงราย มีเครือข่าย 5 แห่ง
1. อบต.ธารทอง อ.พาน จ.เชียงราย
2. อบต.เจริญเมือง อ.พาน จ.เชียงราย
3. อบต.สันกลาง อ.พาน จ.เชียงราย
4. อบต.ม่วงคำ อ.พาน จ.เชียงราย
5. อบต.เวียงห้าว อ.พาน จ.เชียงราย
2. อบต.ดงมูลเหล็ก อ.เมือง จ.เพชรบูรณ์ มีเครือข่าย 5 แห่ง
1. อบต.ตะเบาะ อ.เมือง จ.เพชรบูรณ์
2. อบต.นาป่า อ.เมือง จ.เพชรบูรณ์
3. ทต.ท่าพล อ.เมือง จ.เพชรบูรณ์
4. อบต.น้ำร้อน อ.เมือง จ.เพชรบูรณ์
5. อบต.วังชมภู อ.เมือง จ.เพชรบูรณ์
3. อบต.นาทอน อ.ทุ่งหว้า จ.สตูล มีเครือข่าย 5 แห่ง
1. อบต.ทุ่งหว้า อ.ทุ่งหว้า จ.สตูล
2. อบต.ป่าแก่บ่อหิน อ.ทุ่งหว้า จ.สตูล
3. อบต.บ้วนควน อ.ทุ่งหว้า จ.สตูล
4. อบต.ควนโพธิ์ อ.เมือง จ.สตูล
5. อบต.น้ำผุด อ.ละงู จ.สตูล
4. อบต.ภูหอ อ.ภูหลวง จ.เลย มีครือข่าย 7 แห่ง
1. อบต.แก่งศรีภูมิ อ.ภูหลวง จ.เลย
2. อบต.ผาสามยอด อ.เอราวัณ จ.เลย
3. อบต.เลยวังไสย์ อ.ภูหลวง จ.เลย
4. อบต.ผาบิ้ง อ.วังสะพุง จ.เลย
5. ทต.ศรีสงคราม อ.วังสะพุง จ.เลย
6. อบต.หนองหญ้าปล้อง อ.วังสะพุง จ.เลย
7. อบต.ชมเจริญ อ.ปากชม จ.เลย
5. อบต.ยางขี้นก อ.เขื่องใน จ.อุบลราชธานี มีเครือข่าย 6 แห่ง
1. อบต.ค้อทอง อ.เขื่องใน จ.อุบลราชธานี
2. อบต.ศรีสุข อ.เขื่องใน จ.อุบลราชธานี
3. อบต.สร้างถ่อ อ.เขื่องใน จ.อุบลราชธานี
4. ทต.ห้วยเรือ อ.เขื่องใน จ.อุบลราชธานี
5. อบต.นาคำใหญ่ อ.เขื่องใน จ.อุบลราชธานี
6. ทต.เทพวงศา อ.เขมราฐ จ.อุบลราชธานี
6. อบต.ราชสถิตย์ อ.ไชโย จ.อ่างทอง มีเครือข่าย 5 แห่ง
1. อบต.ชัยฤทธิ์ อ.ไชโย จ.อ่างทอง
2. อบต.คำหยาด อ.โพธิ์ทอง จ.อ่างทอง
3. อบต.หัวไผ่ อ.เมือง จ.อ่างทอง
4. อบต.บ้านพราน อ.แสวงหา จ.อ่างทอง
5. อบต.อ่างแก้ว อ.โพธิ์ทอง จ.อ่างทอง

เอกสารอ้างอิง:
Phinunchaya. (2568). สานพลังภาคีเครือข่าย ยกระดับคุณภาพศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ตามมาตรฐาน 3 ด้าน “ศพด.-ครู-เด็กปฐมวัย”. สืบค้นเมื่อ 25 มีนาคม 2568 จาก https://www.thaihealth.or.th/?p=383989