
สสส. สานพลังกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น- ESTA-ภาคีเครือข่าย ส่งเสริมพัฒนาการเด็ก สร้างศูนย์ต้นแบบการพัฒนาระบบการดูแลเด็กปฐมวัยโดยชุมชนท้องถิ่น จำนวน 6 แห่ง ซึ่งทั้ง 6 แห่ง ผ่านการทดลองใช้เครื่องมือ 366 Q-KIDS ส่งผลให้มีการประเมินคุณภาพสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยผ่านมาตรฐานชาติ เด็กมีพัฒนาการด้านการเคลื่อนไหว-การทรงตัว มีความสามารถการใช้ภาษา-ส่งเสริมจินตนาการ ความคิดสร้างสรรค์ เตรียมพัฒนาส่งเสริม ศพด. ครอบคลุมทั่วประเทศ โดยขยายการใช้เครื่องมือใน อปท.เครือข่ายจำนวน 33 แห่ง
ซึ่งตัวแทนจากทั้ง 6 พื้นที่ต้นแบบ “การพัฒนาระบบดูแลเด็กปฐมวัยโดยชุมชนท้องถิ่น” ได้กล่าวสรุปเกี่ยวกับผลจากการนำชุดเครื่องมือ 366 Q-KIDS ไปใช้ ไว้ดังนี้

คุณเกวลี ดีโส ครูรักษาการผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก อบต. ดองมูลเหล็ก อ.เมือง จ.เพชรบูรณ์ กล่าวว่า “ก่อนเข้าร่วมโครงการ เด็กมีปัญหาเรื่องของการสื่อสาร เมื่อเราใช้เครื่องมือ (366-QKIDS) ยกระดับขึ้นมา ผ่านตัวคุณครูและออกแบบการสื่อสารสอนเด็ก ๆ เราพบว่าพัฒนาการของเด็กทั้ง 4 ด้านดีขึ้น (ด้านร่างกาย, สติปัญญา, อารมณ์, สังคม) โดยเฉพาะเรื่องการสื่อสารในพื้นที่เกิดการรวมกลุ่มกัน ไม่ใช่เพียงแค่ ศพด.เองที่ทำงาน แต่รวมไปถึง อบต. พ่อแม่ผู้ปกครอง หน่วยงานในพื้นที่ ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นเราเห็นชัดที่สุดคือ พฤติกรรมของเด็ก การไหว้ มารยาท”

คุณวิทยา สุขคำ ผู้อำนวยการกองสวัสดิการและสังคม รักษาการกองการศึกษาศาสนาและวัฒนธรรม อบต.ภูหอ อ.ภูหลวง จ.เลย กล่าวว่า “จำนวนใน ศพด. เด็กลดลง จากภาพรวมที่มีอัตราการเกิดน้อย เราพบกว่า เด็กสมาธิสั้น และมีภาวะทุพโภชนาการ (ความสูง) ภูหอเลยมาร่วมเรียนรู้เครื่องมือ (366Q-KIDS) ทำให้เราได้พัฒนาครู ครูก็ไปพัฒนาเครื่องมือสอนเด็ก และพัฒนาสภาพแวดล้อมปัจจุบันเรามีเด็กเพิ่มขึ้น จาก 60 เป็น 90 คน เพราะผู้ปกครองเห็นศักยภาพ แผนต่อไปที่เราจะทำคือ สร้างบรรยากาศให้เอื้อต่อการเรียนรู้ของเด็กมากขึ้น ดูน้อยลง”

นายกจีรพงษ์ ใจวงศ์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลทรายขาว อ.พาน จ.เชียงราย กล่าวว่า “พื้นที่ตำบลทรายขาว เราประสบปัญหาเรื่องหมอกควัน ฝุ่น PM 2.5 ส่งผลกระทบต่อเด็ก ๆ ทั้ง 3 ศูนย์เด็กเล็กฯ ซึ่งมีการจัดการค่อนข้างยาก แผนของเราคือทำให้ ศูนย์เด็กเล็กฯ เป็นพื้นที่ที่ปลอดฝุ่น PM2.5 จากเครื่องมือที่จะทำให้เราได้พัฒนาทั้งเรื่อง ชุดการเรียนรู้ บุคลากร และพื้นที่ เราชวนอีก 5 ท้องถิ่น มาร่วมขับเคลื่อน ยกระดับและต่อยอดพื้นที่ต้นแบบห้องเรียนปลอดฝุ่นไปด้วยกัน”

รองปลัดสรวีย์ ตาเดอิน องค์การบริหารส่วนตำบลนาทอน อ.ทุ่งหว้า จ.สตูล กล่าวว่า “ปัญหาเด็ก มีพัฒนาการไม่สมวัย เนื่องจากเด็กมีภาวะผอม -เตี้ย เพราะผู้ปกครอง ออกไปทำสวนยาง เด็กเลยไม่ได้รับอาหารเช้าที่มีผลต่อพัฒนาการทางสมอง จากเครื่องมือในการพัฒนาเด็ก เรามีกิจกรรมตัวอย่าง ส่งเสริมอาหารเช้าให้เด็ก และมหัศจรรย์ 1,000 วันแรกของชีวิต ที่ดูแลหญิงตั้งครรภ์ โดยทีม CFT ผ่านกองทุนฟื้นฟู กาย ใจ ตำบลนาทอน จนถึงหลังคลอด ก่อนเข้าสู่ ศพด. และสานงานต่อ ขับขี่ปลอดภัยให้แก่ผู้ปกครองและเด็ก ศพด.”

คุณชเพ็ญศรี สีสร้อยมาตร์ ครูชำนาญการ อบต.ยางขี้นก อ.เขื่อนใน จ.อุบลราชธานี กล่าวว่า “สถานการณ์เดิมปัญหาเรื่องของสังคม เด็กอยู่กับผู้สูงอายุ พ่อแม่ไปประกอบอาชีพต่างจังหวัด ส่งผลต่อพัฒนาการอบรมเลี้ยงดู ส่งผลระยะยาวต่อพัฒนาเด็กปฐมวัย เครื่องมือที่เราได้เรียนรู้มา ช่วยให้เราเช็คลิสต์ของตัวเอง ทั้ง 3 ด้าน คือ การบริหารจัดการ การจัดการศึกษา และคุณภาพของเด็ก คุณครูมีเครื่องมือที่จะได้เช็คพัฒนาการเด็ก โดยเราจะเห็นเลยว่าข้อไหน เกณฑ์ไหนที่เราต้องเพิ่มและยกระดับ ดีอยู่แล้วดีขึ้นเพิ่ม อะไรขาดปรับปรุงที่เราต้องเพิ่ม นอกจากพัฒนาการเด็กที่เราเห็นชัดเจนขึ้นจากการทำงานที่ผ่านมา พื้นที่เองก็จะเห็นชัดยิ่งขึ้นว่า การทำงานเรื่องเด็กจะไม่ใช่เรื่องของ สพด. หรือ อบต. คนใดคนหนึ่งไม่ได้แล้ว แต่เป็นเรื่องที่เราต้องช่วยกัน”

นายกจิรทีปต์ ทวีสุข นายกองค์การบริหารส่วนตำบลราชสถิต อ.ไชโย จ.อ่างทอง กล่าวว่า “ชาวบ้านส่วนใหญ่ในพื้นที่ทำการเกษตร พ่อแม่ทำงาน ตากับยายรับส่งหลาน ผู้ปกครองคาดหวังสิ่งที่ดีให้ลูก ส่งเด็กไปเรียนโรงเรียนในเมือง ไกลออกไปจากพื้นที่ ตามมาด้วยต้องแบกรับค่าใช้จ่ายและค่าเดินทางที่มากขึ้น เมื่อเราได้มาเรียนรู้เครื่องมือกับ สสส. หลายปีที่ผ่านมาเราพัฒนามาตรฐานของ ศพด.ใหม่ ก้าวต่อไปเราได้รู้เครื่องมือทั้ง บุคลากร หลักสูตร และสถานที่ที่กว้างขึ้น มีสนามเด็กเล่นให้เด็กได้ออกกำลังกาย เอื้อให้เด็กได้เรียนรู้ เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายของผู้ปกครอง ในขณะเดียวกันก็พัฒนามาตรฐาน สพด.ให้เพิ่มขึ้นด้วย”
เอกสารอ้างอิง:
สุขภาวะชุมชน (2568). สรุปประเด็นนำร่อง 6 พื้นที่ต้นแบบ “การพัฒนาระบบดูแลเด็กปฐมวัยโดยชุมชนท้องถิ่น”. สืบค้นเมื่อ 28 มีนาคม 2568 จาก https://www.facebook.com/photo?fbid=991838829704501&set=pcb.991836336371417